จีนได้ขู่จะตอบโต้ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหากญี่ปุ่นดำเนินการจำกัดการขายและการบริการอุปกรณ์ผลิตชิปให้กับบริษัทจีน เนื่องจากเป็นความพยายามของสหรัฐในการจำกัดความก้าวหน้าในการผลิตชิปของจีน
จีนได้ย้ำถึงท่าทีนี้ในการประชุมกับญี่ปุ่นในช่วงหลัง ๆ ตามแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง การควบคุมใหม่ที่เกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ทำให้ Toyota Motor กังวลว่าจีนอาจตอบโต้ด้วยการตัดญี่ปุ่นจากการเข้าถึงแร่ธาตุหายากสำหรับการผลิตรถยนต์
Toyota เป็นหนึ่งในบริษัทที่สำคัญของญี่ปุ่นและมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับนโยบายชิปของประเทศ รวมถึงการลงทุนในโครงการชิปใหม่ที่ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company กำลังสร้างใน Kumamoto ซึ่งทำให้ข้อกังวลของ Toyota เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับญี่ปุ่น นอกจากนี้ Tokyo Electron ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นที่จับตามองจากมาตรการควบคุมการส่งออกครั้งใหม่
สหรัฐฯ กดดันให้ญี่ปุ่นควบคุมการขายเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูงให้กับจีนเพิ่มเติม เพื่อจำกัดความก้าวหน้าของจีนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อหากลยุทธ์ในการรับประกันแหล่งแร่ธาตุสำคัญ หลังจากที่จีนได้ควบคุมการส่งออกของแกลเลียม, เจอร์เมเนียม และกราไฟต์เมื่อปีที่แล้ว
ในปี 2010 จีนเคยหยุดการส่งออกแร่ธาตุหายากไปยังญี่ปุ่นชั่วคราวหลังจากเหตุการณ์ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทำให้ภาคอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นสั่นสะเทือนและปัญหาลุกลามไปถึงการจัดหาแม่เหล็กกำลังสูงที่ผลิตในญี่ปุ่น
รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีความมั่นใจว่าจะสามารถคลี่คลายข้อกังวลของโตเกียวและบรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่มีทางเลือกที่รุนแรงกว่านั้น โดยสหรัฐฯ ใช้อำนาจตามกฎ FDPR ซึ่งช่วยให้ควบคุมการขายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตทั่วโลก
สหรัฐฯ ยังไม่เคยใช้กฎนี้กับญี่ปุ่นและพันธมิตรหลักอื่น ๆ ซึ่งมองว่ามาตรการนี้เป็นขั้นตอนที่รุนแรง รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า พวกเขาต้องการหาทางออกในการเจรจา แต่ก็ยังไม่มองข้ามการใช้กฎ FDPR
การเจรจาอาจมีความยุ่งยากเนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนและการวางแผนลาออกของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอ คิชิดะในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม การลาออกของคิชิดะไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาเพราะโตเกียวได้สร้างฉันทามติในนโยบายนี้ไว้แล้ว
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและ Tokyo Electron ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในขณะนี้ ขณะที่ Toyota กล่าวว่า กำลังพิจารณากลยุทธ์การจัดหาที่ดีที่สุดเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการควบคุมการส่งออก ไม่ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
กระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวในแถลงการณ์ว่า พวกเขาต่อต้านความพยายามของประเทศใดประเทศหนึ่งในการทำให้การค้าปกติกลายเป็นการเมืองและล่อให้ประเทศอื่นเข้าร่วมการปิดกั้นเทคโนโลยีกับจีน
สหรัฐฯ ได้เปิดเผยการควบคุมการส่งออกชิปอย่างครอบคลุมในเดือนตุลาคม 2022 โดยเน้นทั้งอุปกรณ์และโปรเซสเซอร์ขั้นสูง จนต่อมาญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้ออกมาตรการตามมาด้วยแต่ไม่ได้เข้มงวดมากนัก ต่อจากนั้น สหรัฐฯ กำลังมองหามาตรการควบคุมใหม่ ๆ รวมถึงมาตรการที่มุ่งเป้าไปที่บริษัทจีนโดยเฉพาะ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็กำลังพยายามระมัดระวังในการเดินตามนโยบายของสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ