คลังเก็บหมวดหมู่: Marketing

วิธีสร้างรายได้ จากการเขียน Blog

ทุกวันนี้สื่อเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ใครที่มีสื่ออยู่ในมือ ผู้นั้นมักมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้คน ซึ่งในอดีต การจะเป็นเจ้าของสื่อได้นั้น จำเป็นต้องมีเงินทุนมหาศาล แต่ในปัจจุบัน ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ทั้งมีราคาถูก ยืดหยุ่น และเข้าถึงง่าย แถมมีแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้เราสามารถเป็น ‘เจ้าของสื่อ’ ได้ไม่ยาก

Weblog หรือ Blog (บล็อก)เกิดขึ้นมานานแล้ว ในอดีต การที่จะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้นั้น ต้องว่าจ้างโปรแกรมเมอร์พัฒนาระบบขึ้นมา ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาก็ถือว่าไม่น้อยเลย แต่ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มให้เลือกใช้มากมาย ที่สำคัญ คือ ฟรี! และใช้งานไม่ยาก ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านโปรแกรมมิ่งก็สามารถใช้งานได้

เราสามารถสร้างบล็อกเป็นของตัวเองได้อย่างไรบ้าง?

จุดเริ่มต้น ผู้เขียนเองก็เริ่มเขียนบทความโดยใช้เว็บบล็อกที่ให้บริการฟรีอย่าง blogger.com (บล็อกเกอร์.คอม) (เจ้าของเดียวกับ Google) ก่อนที่จะหันมาศึกษาเทคนิคการเขียนโปรแกรมอย่างจริงจัง และใช้เว็บบล็อกสำเร็จรูปอย่าง WordPress (เวิร์ดเพรส) ในภายหลัง

ควรทำบล็อกเกี่ยวกับอะไรดี?

บล็อกก็คือเว็บไซต์เว็บนึง ไม่มีข้อจำกัดที่ตายตัว เราสามารถเขียนบล็อกเกี่ยวกับอะไรก็ได้ เช่น บล็อกเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สุขภาพและความงาม อัพเดทข่าวสาร หรือรีวิวสินค้าก็ได้ แล้วแต่เราถนัด ขอแค่เขียนออกมาให้น่าสนใจก็พอ

แล้วเราจะใช้บล็อกหารายได้ ได้อย่างไร?

ถ้าผู้อ่านรู้จักเว็บไซต์ Youtube.com (ยูทิวป์.คอม) อยู่ก่อนแล้ว ก็คงทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจาก Youtube ใช้หลักการเผยแพร่เนื้อหาโดยใช้วิดีโอ แต่ ‘บล็อก’ จะเผยแพร่เนื้อหาผ่านตัวหนังสือ เมื่อบล็อกของเรากลายเป็นที่รู้จัก ก็มีโอกาสที่แบรนด์จะว่าจ้างเราเขียนเนื้อหาเพื่อโปรโมทสินค้า หรือไม่เราก็อาจจะสร้างรายได้โดยการติด Google Adsense (กูเกิล แอดเซนส์) ภายในบล็อกของเราเองก็ได้

Google Adsense คืออะไร แล้วทำอย่างไรเราถึงจะมีรายได้

Adsense เป็นบริการของ Google ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของเว็บไซต์สามารถสร้างรายได้ โดยการนำโฆษณามาติดไว้ที่เว็บไซต์ ซึ่งจะแสดงโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของเรา เมื่อมีการคลิกโฆษณาเกิดขึ้น Google ก็จะจ่ายผลตอบแทนให้ โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารระหว่างวันที่ 22-25 ของทุกเดือน ในกรณีที่รายได้ของเดือนนั้นมากกว่า $100 ขึ้นไป แต่หากทำยอดไม่ถึง ก็จะถูกนำไปรวมกับรายได้ในเดือนถัดไป

วิธีสมัคร Google Adsense และเงื่อนไขที่ต้องรู้

สามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ https://www.google.com/adsense จากนั้นส่งเว็บไซต์ของเราไปให้ทาง Google ตรวจสอบคุณสมบัติ อาจใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ควรมีบทความที่มีคุณภาพอย่างน้อย 20 บทความ ถึงจะผ่านการตรวจสอบ แต่หากไม่ผ่าน จะมีอีเมลแจ้งสาเหตุมาให้เราทราบ ก่อนทำการแก้ไขแล้วส่งใบสมัครอีกครั้ง

เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว บล็อกของเราก็พร้อมทำเงินได้ทันที สิ่งที่ต้องทำในขั้นต่อไป คือ เขียนเนื้อหาให้น่าสนใจ และมีประโยชน์ต่อผู้คน อย่าลืมว่าบทความที่เราเขียนจะยังคงอยู่ไปอีกนานจนกว่าเราจะปิดบล็อกทิ้งไป เพียงเท่านี้เราก็มีรายได้เข้าบัญชีในทุกเดือนแล้วล่ะ

รวยด้วย Affiliate โพสต์สินค้ารับรายได้จากเว็บดัง

Affiliate (แอฟฟิลิเอท) เป็นการทำการตลาดให้กับเว็บไซต์ขายสินค้าและบริการ เรียกง่าย ๆ คือ เราทำหน้าที่เป็นนายหน้าขายสินค้าออนไลน์นั่นเอง โดยนำลิงก์ไปโปรโมทผ่านช่องทางต่าง ๆ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าผ่านลิงก์ของเรา ก็จะได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าคอมมิชชั่น ซึ่งลิงก์นั้นได้แฝงรหัสประจำตัวของเราเอาไว้ โดยเราไม่จำเป็นต้องส่งสินค้า หรือสต็อคสินค้าเอาไว้เอง เพราะหน้าที่ทั้งหมดเป็นของบริษัทเจ้าของสินค้า ซึ่งเทคนิคการหารายได้นี้กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ

Affiliate เป็นระบบการตลาดแบบพันธมิตร ที่เว็บไซต์ขายสินค้าดัง ๆ ใช้เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการได้ อาทิ Amazon, Lazada, Shopee, Advice, Power Buy, Officemate และอื่น ๆ โดยจะมอบผลตอบแทนเป็นรายได้เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าเกิดขึ้น และเว็บไซต์ส่วนใหญ่มักเก็บประวัติการคลิกลิงก์ไว้ประมาณ 30 วัน ภายในระยะเวลาดังกล่าว เราจะยังได้รับค่าคอมมิชชั่นไม่ว่าลูกค้าจะกดสั่งซื้อสินค้าชนิดไหน ในช่วงเวลาใดก็ตาม

นอกจากสินค้าและบริการแล้วก็ยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ที่เข้าร่วม Affiliate เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อ ประกัน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ตั๋วเครื่องบิน และอื่น ๆ เราสามารถเลือกโปรโมทอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะเลือกโปรโมททั้งหมดเลยก็ได้

เริ่มต้นทำ Affiliate ต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่?
แทบไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว เพียงแค่เรามีไอเดีย และช่องทางที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก็สามารถทำ Affiliate ได้แล้ว เดี๋ยวนี้มีแพลตฟอร์ม ให้ใช้งานได้ฟรี ๆ อาทิ Blogspot และ WordPress หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook หากต้องการเช่าโฮสติ้งเพื่อสร้างเว็บไซต์ให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็สามารถทำได้

เราสามารถทำ Affiliate ได้ทุกที่ ทุกเวลา จะทำเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลักก็ได้ ขอแค่มีความขยัน พยายาม และอดทน จริงอยู่ที่ผู้เริ่มต้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่พอทำไปสักพักด้วยความไม่ย่อท้อ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ใครหลายคนพอลืมตาอ้าปากได้ หรือมีรายได้เป็นกอบเป็นกำไปเลยก็มี

ทํา Youtube ได้เงินเท่าไหร่ มีคำตอบ!!

หลายคนคงอยากรู้ว่า เหล่าบรรดา Youtuber (ยูทิวป์เบอร์ คำที่ใช้เรียกคนทำคลิปลงยูทิวป์ทั้งหลาย) มีรายได้จากการทำคลิปลงยูทิวป์จริงหรือไม่? วันนี้จะมาตอบในฐานะของคนที่เคยทำ Youtube มาก่อน

จากที่เคยเข้าไปคลุกคลีอยู่กับการทำคลิปลง Youtube อยู่ช่วงนึง ขอบอกตรง ๆ แบบไม่โกหกเลยครับ ว่าการอัพโหลดวิดีโอลงยูทิวป์ทำให้เกิดรายได้ ได้จริง ๆ ซึ่งถ้าคุณทำมันอย่างจริงจังและทำอย่างถูกทาง คุณสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เดี๋ยวจะอธิบายว่าทำไมถึงมีรายได้ แล้วรายได้มาจากไหน และถ้าอยากมีรายได้เยอะ ๆ ต้องทำคลิปประเภทไหน

ทำไมถึงใช้คำว่า “เคยทำ Youtube มาก่อน”
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมเคยได้มีโอกาสทำคลิปลงยูทิวป์เล่น ๆ กับเพื่อน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะทำจริงจังอะไรมากมาย คือก่ะทำเล่น ๆ แหละ ด้วยความอยากรู้อยากลองด้วย โดยคลิปแรกที่อัพโหลดลงไปในยูทิวป์ เป็นคลิปที่จับกระแสในช่วงนั้นมาเล่น “น้องล่า เหนียวไก่หาย” ถ้าทุกคนยังจำได้ ผมเป็น 1 ในคนที่หยิบกระแสนี้มาเล่น ทำให้วิดีโอที่ผมอัพโหลดลงไปมียอดวิวรวมจนถึงปัจจุบัน รวม ๆ แล้วกว่า 4 แสนวิว!!

วิดีโอยอดวิว 4 แสนวิว ได้เงินจาก Youtube กี่บาทกันนะ?
ตอบ ประมาณ 2,500-3,000 บาทครับ ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้ชมคลิปของเราด้วยว่ากดข้ามโฆษณาหรือเปล่า หรือโฆษณาแสดงขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งรายได้ตรงนี้จะได้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีคนเลิกดูวิดีโอจากช่องของเรา แบบนี้เรียกพาสซิฟอินคัม (รายได้ที่เข้ามาในขณะที่เราอยู่เฉย ๆ) ได้เลยนะเนี่ย ทีนี้ให้เราลองจินตนาการถึงคนที่มียอดวิวเกิน 1 ล้านวิวต่อคลิป และทำเดือนนึงเป็นสิบ ๆ คลิป รายได้เดือนนึงรวม ๆ แล้วได้เท่าไหร่ ลองคำนวณกันดูครับ

รายได้มาจากไหน ใครเป็นคนจ่ายให้เรา แล้วจ่ายยังไง?
เคยเห็นคำว่า “ข้ามโฆษณา” หรือคำว่า “Skip” ที่ปรากฎก่อนชมคลิปกันบ้างไหม นี่แหละคือรายได้ของเหล่าคนทำยูทิวป์ทั้งหลาย ทุก ๆ ครั้งที่คุณกดปุ่มข้ามโฆษณาไป เจ้าของช่องจะไม่ได้รับรายได้ แต่ถ้าคุณดูโฆษณาเกิน 5 วินาที หรือดูจนจบ เจ้าของช่องก็จะได้รับส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากโฆษณาตัวนั้น ซึ่งผู้ลงโฆษณาจะจ่ายเงินไปให้ทางยูทิวป์ (ในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์ม) และยูทิวป์จะแบ่งเงินมาให้เราอีกที (ในฐานะคนทำคอนเทนท์) ซึ่งกี่เปอร์เซนต์นั้นผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีป้ายโฆษณาที่ปรากฎอยู่ข้างตัวเล่นวิดีโอ และโฆษณาป้ายสี่เหลี่ยมยาว ๆ ที่ปรากฎในขณะดูคลิป ก็สามารถเป็นรายได้ ได้ด้วยนะครับ

ทำไมยูทิวป์ถึงต้องแบ่งค่าโฆษณาให้คนเจ้าของช่องด้วย?
ถ้าจะให้หยิบยกสุภาษิตไทยมาสัก 1 สุภาษิต คงหนีไม่พ้น “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” การที่เม็ดเงินจากผู้ประกอบการธุรกิจจะไหลเข้ามาอย่างมหาศาลได้นั้น คอนเทนท์ในยูทิวป์จะต้องมีคุณภาพเสียก่อน ถ้าคนทำคลิป ทำคลิปลงยูทิวป์แล้วไม่ได้อะไรก็คงไม่มีใครอยากทำ จริงมั๊ย? เรียกได้ว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เรามีหน้าที่ทำคลิปวิดีโอให้มีคุณภาพ ส่วนยูทิวป์ก็มีหน้าที่สนับสนุนคนทำคลิปอย่างเรา ๆ นั่นเอง

นอกจากรายได้ที่มาจากยูทิวป์โดยตรงแล้ว สามารถมีรายได้จากทางอื่นได้อีกไหม?
เมื่อเราทำช่องไปแล้วมีผู้ติดตามประมาณหนึ่ง จะเริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนช่องในรูปแบบการโปรโมทสินค้าและบริการ ซึ่งทางสปอนเซอร์จะติดต่อเราโดยตรง ถ้าผู้ติดตามช่องของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก มีโอกาสที่สปอนเซอร์ประเภทสินค้าเด็กจะเข้ามาสนับสนุนช่อง เอาเป็นว่าอยากได้สปอนเซอร์กลุ่มไหน ก็ให้ทำคลิปในกลุ่มนั้น ซึ่งใครทำคอนเทนท์เกี่ยวกับเด็ก มีโอกาสที่ยอดวิวจะพุ่งขึ้นเร็วมากครับ ขอบอก ๆ

สร้างแบรนด์ให้น่าจดจำ โดยใช้ความถี่

การทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องอาศัยการจดจำหรือการรับรู้แบรนด์ ลูกค้าต้องจำให้ได้ว่าคุณเป็นใคร และเราจำเป็นต้องสื่อสารให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจในตัวตนของแบรนด์ ซึ่งอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาและการทำซ้ำซึ่งผมขอเรียกมันว่า “ความถี่ในการทำการตลาด” หรือในอีกความหมายหนึ่ง “ความสม่ำเสมอในการทำการตลาด” ผมจะมาอธิบายให้ฟังว่าความถี่ในกาารทำการตลาดมีความสำคัญอย่างไร

1.ความถี่ระดับเริ่มต้น
เป็นความถี่แรกเริ่มที่เมื่อลูกค้าพบเห็นสินค้าหรือแบรนด์ของคุณครั้งแรก ลูกค้าอาจไม่ได้สนใจมากนักหรืออาจมองข้ามไปด้วยซ้ำ ซึ่งนักการตลาดหลายท่านมักจะตกม้าตายในระดับนี้คือเมื่อผลตอบรับออกมาไม่ดีในช่วงเริ่มต้นหลายคนมักจะล้มเลิก ซึ่งผมให้ระยะเวลาของระดับนี้อยู่ในช่วง 3 เดือนแรก

2.ระดับความถี่ที่สอง
เมื่อลูกค้าพบเห็นสินค้าหรือแบรนด์ของคุณไปสักระยะหนึ่ง จะเริ่มเกิดความสงสัยและอยากรู้ว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไปมันคืออะไรกันแน่ ลูกค้าบางรายอาจเกิดอาการรำคาญหากคุณสื่อสารแบรนด์หรือสินค้าออกไปไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายซึ่งอาจส่งผลเสียกับแบรนด์ของคุณได้ เพราะระดับนี้จะส่งผลต่ออารมณ์ของลูกค้ามากเป็นพิเศษ ซึ่งคุณควรศึกษากลุ่มเป้าหมายของคุณให้ดีเสียก่อนว่าลูกค้ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่จะใช้สินค้าของคุณหรือไม่ เช่น ยกทรง เหมาะกับลูกค้าผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่เมื่อไหร่ที่ลูกค้าเริ่มเกิดความรำคาญให้คุณเพิ่มความถี่ในการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นจนเข้าสู่ขั้น “ความเคยชิน”

3.ความถี่ระดับที่สาม
มีงานวิจัยออกมาว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเริ่มตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นนั้นเมื่อเห็นซ้ำๆ ติดต่อกัน 3-7 ครั้ง ซึ่งมันก็ไม่เสมอไป ในกรณีที่แบรนด์ของคุณค่อนข้างจะโนเนมและยังไม่เป็นที่รู้จัก ทฤษฎีดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้ผล ซึ่งคุณจำเป็นต้องผ่านการทำการตลาดทั้งสองความถี่แรกเสียก่อนเว้นแต่ว่าคุณคือผู้เล่นรายแรกในตลาดและยังไม่มีคู่แข่งในสินค้าประเภทเดียวกัน และเมื่อผ่านระดับนี้ไปได้แล้วแบรนด์หรือสินค้าของคุณจะเริ่มเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าและมีโอกาสติดลมบนอย่างแน่นอน

ผมมีกรณีศึกษามายกตัวอย่างให้คุณได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น คือ เครื่องดื่มโค้ก ไม่ว่าจะไปที่ไหนเรามักจะเจอโลโก้โค้กอยู่เป็นประจำ อาจจะแปะอยู่ตามป้ายร้านอาหาร นั่นหมายความว่า เครื่องดื่มโค้ก มีโอกาสเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าค่อนข้างสูง เมื่อนึกถึงน้ำอัดลม แบรนด์แรกที่จะถูกนึกถึงก็คือ “โค้ก” เพราะเราพบเห็นอยู่ทุกวันและบ่อยมาก ซึ่งก็ตรงตามกฎการทำการตลาดแบบ “ความถี่” ที่ผมอธิบายมา ขอให้คุณโชคดีครับ

การบ้านท้ายบทความ ให้คุณลองบอกชื่อแบรนด์ของสินค้าประเภทต่างๆ ที่คุณรู้จักมาสักสิบประเภท เช่น น้ำอัดลม น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก เบียร์ ฯลฯ และอธิบายว่าทำไมจึงนึกถึงเป็นแบรนด์แรก

เว็บไซต์บริษัท ยังจำเป็นอยู่ไหม?

ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันของหลายๆ คน องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ก็หันมาใช้ช่องทางนี้ในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจกันมากขึ้น แล้วเว็บไซต์ของบริษัทหรือองค์กร ยังจำเป็นอยู่ไหม?

ช่วงนึงผมเคยไปเสนอทำเว็บไซต์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งแต่กลับโดนปฎิเสธ และให้เหตุผลกลับมาว่า “ยุคนี้คนเขาไม่เข้าเว็บไซต์กันแล้ว” ตอนได้ยินประโยคนี้ ผมนี่รีบอุทานในใจทันที “ห๊ะ!?”จริงดิ คนเขาไม่เข้าเว็บกันแล้วเหรอ ไม่ใช่มั้ง.. โซเชียลมีเดียที่ทุกคนเล่น ก็คือเว็บไซต์ และจำเป็นต้องมีเว็บเซอร์เวอร์ทำงานอยู่เบื้องหลัง แม้แต่การค้นหาข้อมูลในเสิร์ชเอนจิ้น Google เองก็ยังดึงเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่น ๆ มาแสดง แล้วทำไมถึงยังมองว่าเดี๋ยวนี้คนเลิกเข้าเว็บไซต์กันแล้ว อันนี้เขาตอบด้วยความรู้จริง ๆ หรือแค่ต้องการปฎิเสธการขายของเรากันแน่!

ถ้ามีคนถามว่า “เว็บไซต์ยังจำเป็นอยู่ไหม?” ผมจะตอบกลับทันทีว่า “ตราบใดที่คุณยังใช้ Google ค้นหาข้อมูล เว็บไซต์ก็ยังคงมีความจำเป็น”

ทุกวันนี้เราค้นหาข้อมูลผ่าน Google กันทุกวันอยู่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า Google ไม่ได้เป็นผู้สร้างเนื้อหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แต่ใช้บอทไปดึงข้อมูลในหน้าเว็บไซต์อื่นมาแสดงผลแทน โดยดึงคีย์เวิร์ดที่ผู้คนต้องการค้นหาซึ่งอยู่ในหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ มาทำการแสดงผล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการค้นหาคำว่า “เครื่องสำอาง” Google จะไปดึงข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ที่มีคำว่า เครื่องสำอาง อยู่ในหน้านั้นมาแสดงผล นั่นหมายความว่าหากคุณทำธุรกิจขายเครื่องกรองน้ำและเมื่อลูกค้าค้นหาคำว่า “เครื่องกรองน้ำ” ก็มีโอกาสที่จะเจอเว็บไซต์ของคุณ

เว็บไซต์สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจของคุณ เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็สร้างบัญชีโซเชียลมีเดียได้ง่าย ๆ  และการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลที่ถูกเผยแพร่นั้นอาจยังไม่ได้รับการคัดกรองความถูกต้องใด ๆ มีโอกาสทำให้ลูกค้าเกิดความลังเลที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากคุณ เว็บไซต์จะช่วยการันตีการมีตัวตนให้กับบริษัทของคุณได้

ถ้าคุณยังหวังพึ่งโซเชียลมีเดียอย่างเดียวแล้วละก็โยนความคิดนี้ทิ้งไปได้เลย เพราะโซเชียลมีเดียมีการปรับปรุงอัลกอริทึมอยู่ตลอดเวลา คุณไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าผู้คนจะยังคงเข้าถึงคอนเทนท์ของคุณได้ทั้งหมดหรือไม่โซเชียลมีเดียเองก็ต้องการรายได้ ซึ่งมีความจำเป็นต้องลดการมองเห็นคอนเทนท์ของคุณต่อผู้ติดตาม นั่นหมายความว่าคุณต้องจ่ายเงินซื้อโฆษณาเพื่อให้ลูกค้ามองเห็นคอนเทนท์ของคุณมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตามเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างก็มีประโยชน์กันคนละแบบ คุณไม่จำเป็นต้องใช้อย่างใดอย่างหนึ่งแต่คุณสามารถใช้มันควบคู่กันไปได้